7 ปีก่อน กับประสบการณ์ถูกรับน้อง ตอน ความกดดัน

ตั้งแต่วันแรกที่เข้าสัมผัสความเป็น มมส. ผมก็ได้พบกับความกดดัน ในระดับคลาสเชียร์จากเชียร์กลาง เชียร์คณะ และการเข้าพบน้องของรุ่นพี่ในเอกประวัติศาสตร์  แต่จะขอเล่าในส่วนของเอกก่อนแล้วกัน

มันเหมือนกับเป็นธรรมเนียมหรืออะไรสักอย่าง  กับการที่รุ่นพี่จะต้องมาพบน้องหลังจากเรียนวิชาหลัก  วิชาหลักของเอกประวัติสาสตร์จะเรียน 3 ชั่วโมง หลังจากเรียนเสร็จส่วนใหญ่จึงว่าง ไม่มีเรียนต่อ และทุกครั้งที่เข้าพบ เขาจะมาพร้อมกับความรู้สึกที่ “กดดัน”  คำพูดที่ใช้คือ “คุณ” ไม่ใช่น้อง  และการเข้าพบแต่ละครั้งก็จะมีประเด็นมาให้พูดอยู่เสมอๆ  สำคัญคือเรื่องของการรวมเพื่อนในรุ่น รู้จักให้เกียรติเคารพรุ่นพี่เป็นต้น

ในช่วงที่เข้าเรียนเดือนสองเดือนแรก ผมยังไม่มีเพื่อนเลย เวลาได้ยินได้พบอะไร ความรู้สึกจะเหมือนถูกกดดันเป็นสองเท่า  จากน้ำเสียงที่พี่เขาใช้  คือพี่เขาไม่ได้ว้าก  แต่ฟังแล้วรู้ว่าเขากำลังกดดัน บรรยากาศมันจะอึมครึมทั้งห้อง …แต่ไม่ถึงกับน่ากลัว  แล้วคนที่มากดดันน้อง จะมีอยู่แค่ไม่มีคน เป็นส่วนน้อยเท่านั้น แต่ก็เปรียนสเมือนตัวแทนพี่ๆจากรุ่นนั้นๆ  แล้วเวลาเข้าพบน้องของรุ่นพี่ จะมาเป็นชั้นปี ไม่เข้าพบพร้อมกัน  พี่ปีสองจะเข้าพบน้องบ่อยกว่า ด้วยหน้าที่ต้องทำให้เราแขวนป้าย และดำเนินกิจกรรมให้เราตามหาพี่ฉลากคนอื่นๆ

ในทางตรงกันข้าม…ถ้าอยู่นอกห้อง หรือไม่ได้อยู่ในช่วงกิจกรรมรับน้อง ก็คือจะเหมือนรุ่นพี่รุ่นน้องทั่วไป พูดคุยกันปกติ เราเรียกเขาพี่ เขาเรียกเราน้อง  คำว่า “คุณ” จะถูกใช้ในช่วงแรกๆของการรับน้อง และจะสิ้นสุดเปลี่ยนมาเรียกว่า “พวกเรา” หรือ “น้อง” ก็ตอนที่ได้ทำในสิ่งที่รุ่นพี่ยอมรับเราได้ เช่น การแขวนป้าย  ล่าลายเซนรุ่นพี่ครบ พบพี่ฉลาก บูมเอก อยู่กันพร้อมหน้าเวลาที่พี่เรียก ก็ถือว่าผ่านการรับน้อง

การเป็นรุ่นน้องของผมในตอนนั้น ก็เหมือนกับเพื่อนส่วนใหญ่คนอื่นๆ ที่ไม่ได้มีความคิดต่อต้านหรือไม่เห็นด้วยกับรุ่นพี่แต่อย่างใด ด้วยความพี่รุ่นพี่เขาไม่ได้ทำตัวน่ากลัวตลอดเวลา คือหลายคนก็อยู่หอเดียวกัน เดินไปไหน ไปห้องสมุดก็เจอ บางคนอยู่เป็นรูมเมทกัน  เป็นต้น แต่บางคนที่เขาไม่เห็นด้วยหรือไม่ทำกิจกรรมอะไรเลย เขาไม่ต่อต้านนะ แต่แค่ไม่ร่วมกิจกรรมอะไรทั้งนั้น

ถ้าถามว่าการรับน้องของพี่ๆในเอก แล้วผมได้อะไร ก็คือได้รู้จักเพื่อนคนอื่นๆมากขึ้น เพราะถ้าอยู่ในชั้นเรียนเราไม่มีเวลาว่างคุยกันอยู่แล้ว ด้วยธรรมชาติของแต่ละคนเรียนเสร็จก็แยกย้าย เจอกันอาทิตย์ละไม่กี่ครั้ง  ไม่เหมือนกับเรียนเรียนในช่วงมัธยม เจอกันอาทิตย์ละ 5 วัน อยู่ด้วยกันทั้งวัน

แล้วถ้าถามว่าผมชอบมั้ย การที่เข้ามากดดันแบบนี้ ในตอนนั้นรู้สึกว่าไม่ค่อยชอบแต่ไม่เกลียดหรือต่อต้าน และคิดว่าน่าจะมีวิธีที่ดีกว่านี้  แต่การรับน้องของรุ่นผมในตอนนั้นถือว่าโชคดี ที่เราไม่เกเรมันจึงผ่านพ้นมาได้ด้วยดี เพราะบางรุ่นบางกลุ่มเขาก็มีปัญหาจากการเข้ามากดดันของพี่  จนทำให้ไม่ยอมรับ ซึ่งจะส่งผลถึงกิจกรรมอื่นๆ เพราะบางกิจกรรมในเอกจะอาศัยการทำงานร่วมกันของพี่กับน้อง  ถ้ามีปัญหาตั้งแต่แรกก็อาจจะมีปัญหาในระยะยาว

ภาพจาก : msupheung.blogspot.com

Facebook Comments