พฤติกรรมการเข้าชม ของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย พิพิธภัณฑ์มิวเซียมสยาม ตอนที่ 1

ผมมีวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ที่ทำไว้นานละ เดี๋ยวเอามาทยอยลงให้อ่านสำหรับท่านที่สนใจเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ ในประเด็นการเข้าชมพิพิธภัณฑ์ของกลุ่มวัยรุ่น …อาจจะแบ่งเป็นหลายตอนหน่อย เพราะเรื่องมันยาวมาก

Museumsiam

ชื่อเรื่อง พฤติกรรมการเข้าชม ทัศนคติ และความคาดหวังของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่มีต่อพิพิธภัณฑ์มิวเซียมสยาม

บทที่ 1

1.1 ความสำคัญและที่มาของปัญหา

ปัจจุบันได้มีพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยมากถึง 1112 (ศูนย์มนุษยวิยา, 2552:ออนไลน์)แห่งจากทั่วประเทศมีทั้งที่เป็นของวัด ชุมชน สถานศึกษา หน่วยงานราชการ องกรณ์ปกครองส่วนท้องถิ่น ฯลฯ ถึงแม้จะมีพิพิธภัณฑ์ที่หลากหลายและมากมายแต่คนไทยก็ยังไม่นิยมเข้าพิพิธภัณฑ์ ซึ่งทำให้พิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่อยู่ในบรรยากาศที่เงียบเหงาขาดการเป็นแหล่งเรียนรู้ที่แท้จริงของสังคม ผลที่ตามมาก็คือการปิดตัวของพิพิธภัณฑ์เพราะหลายแห่งมีโบราณวัตถุชิ้นสำคัญๆ การเปิดบริการก็ต้องมีงบประมาณมาบำรุงทั้งการอนุรักษ์วัตถุค่าใช้จ่ายต่างๆของพิพิธภัณฑ์ ซึ่งปัจจัยก็มีหลายอย่างเช่น ความน่าสนใจของนิทรรศการ ซึ่งถ้าหากนึกถึงพิพิธภัณฑ์เมื่อไหร่หลายคนจะนึกถึงโบราณวัตถุ สิ่งของเก่าแก่ที่หาดูยาก (พัชรดา จุลเพรช, 2552:ออนไลน์) ซึ่งแม้ว่าในปัจจุบันพิพิธภัณฑ์หลายแห่งได้มีการพัฒนาในเรื่องของสื่อนิทรรศการเทคโนโลยีนำเสนอต่างๆ แต่ภาพที่ยังติดตาทำให้พิพิธภัณฑ์ถูกมองในแง่ลบมากกว่าการเป็นแหล่งเรียนรู้ อย่างไรก็ตามได้มีข้อเสนอต่างๆเกี่ยวกับการออกแบบพิพิธภัณฑ์จากงานวิจัยหลายๆชิ้นและกลุ่มคนทำพิพิธภัณฑ์เองว่าพิพิธภัณฑ์ควรปรับปรุงสื่อให้มีความหลากหลาย (โชติรส พิพัฒน์ผล, ช้างเอราวรรณ) เน้นให้ผู้ชมมีปฏิสัมพันธ์กับนิทรรศการและส่งผลต่อการรับรู้ของผู้ชม และเห็นได้จากพิพิธภัณฑ์ในระยะหลังๆมานี้ได้ลงทุนนำเทคโนโลยีมาประยุกต์เพื่อดึงดูความสนใจ แม้แต่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนครเองก็ยังมีสื่ออินเทอร์แรคทิฟ พิพิธภัณฑ์ที่มีการลงทุนสูงไม่ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ พิพิธภัณฑ์เด็กกรุงเทพฯ มิวเซียมสยาม ฯลฯ เหล่านี้มีความสะดวกที่จะสร้างสื่อแปลกใหม่และหลากหลายเพราะมีความพร้อมด้านงบประมาณและบุคลากรจึงไม่ใช่เรื่องยากนักที่จะสร้างสรรค์สิ่งเหล่านี้ได้ หากแต่พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่เป็นของเอกชน ชุมชน วัด หรือแม้แต่พิพิธภัณฑ์ที่เป็นของหน่วยงานราชการมีความลำบากในการสร้างสรรค์สื่อจัดแสดงทั้งในเรื่องของงบประมาณที่ไม่เพียงพอและความพร้อมของบุคลากร เพราะรูปแบบการบริหารจัดการของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นส่วนใหญ่ยังอยู่ในลักษณะเป็นองกรณ์ที่ไม่มั่นคง ไม่มีความชัดเจนในเรื่องของทิศทางที่จะไป ส่งผลให้พิพิธภัณฑ์นิ่งขาดการพัฒนา (ประภัสสร โพธิ์ศรีทอง, 2551:ออนไลน์)

ผลพวงของการที่พิพิภัณฑ์ท้องถิ่นขาดคนดูส่งผลให้พิพิธภัณฑ์ต่างๆมีการตื่นตัวเกิดการรวมกลุ่มแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็น และได้เกิดแนวคิดต่างๆเพื่อใช้แก้ปัญหาและพัฒนาให้พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นมีผู้ชมมากขึ้น การพัฒนาก็มีข้อจำกัดลักษณะของแนวทางต่างๆที่ถูกเสนอมาเพื่อพัฒนาให้พิพิธภัณฑ์มีผู้ชมจึงเป็นการแก้ไขจุดอ่อนของพิพิภัณฑ์เอง เช่น ด้านการออกแบบสื่อนิทรรศการให้ที่มีชีวิตนับเป็นอีกแนวคิดหนึ่งของการออกแบบนิทรรศการ โดยการใส่เรื่องเล่าหรือเรื่องราวให้กับวัตถุที่จัดแสดง กลายเป็นแนวคิด “พิพิธภัณฑ์มีชีวิต” (living museum) เพิ่มความมีชีวิตให้กับพิพิธภัณฑ์เพิ่มความน่าสนใจให้กับนิทรรศการ ซึ่งเป็นอีกทางเลือกที่มีความเหมาะสมกับพิพิธภัณฑ์ที่มีทุนน้อย อีกทั้งแนวคิดการออกแบบนี้ไม่มีความซับซ้อนมากนัก เหมาะกับศักยภาพของบุคคลากรที่มิได้เรียนการออกแบบมา แต่ความมีชีวิตของพิพิธภัณฑ์ก็มีหลากหลายรูปแบบสุดแต่จะตีความบางคนกล่าวว่า “หากพิพิธภัณฑ์ได้รับการพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางของชุมชนแท้จริง คนที่ไปดูไม่ใช่แค่ระดับเดียวแต่จะต้องมีตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้ใหญ่ ไม่ใช่ไปกันเพียงครั้งเดียว ไปกันหลายๆครั้ง อย่างนี้เรียกว่า พิพิธภัณฑ์มีชีวิต” (เอกสารประชุมวิชาการ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในประเทศไทย, 2539:24) พิพิธภัณฑ์ที่ใช้แนวคิดดังกล่าวนี้เช่น พิพิธภัณฑ์วัดท่าพูดซึ่งกระบวนการสร้างพิพิธภัณฑ์นั้นเกิดจากความต้องการของุมชนโดยแท้ การจัดแสดงทำโดยการใส่เรื่องราวและภาพตัวแทนไปยังสื่อจัดแสดงให้มีชีวิตชีวา แต่ถึงกระนั้นพิพิธภัณฑ์ก็ยังไม่ได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่องมักได้รับความนิยมเพียงช่วงแรกๆที่จัดตั้งพิพิธภัณฑ์เท่านั้น

อีกทางเลือกในการพัฒนาพิพิธภัณฑ์ที่ถูกกล่าวถึงมานาน แต่เริ่มเป็นรูปเป็นร่างได้เมื่อไม่นานมานี้ได้มีการรวมตัวของคนในวงการพิพิธภัณฑ์เพื่อระดมความคิดภายใต้งาน “รัฐและองกรณ์เอกชนจะสนับสนุนพิพิธภัณฑ์ได้อย่างไร” เป็นการรวมตัวครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของชาวพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเพื่อระดมความคิดแล้วกำหนดเป็นนโยบายแล้วเสนอไปยังรัฐบาล ภายในงานได้พบปัญหา ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะมากมายของผู้ร่วมเสวนา ปัญหาโดยรวมๆระหว่างรัฐกับพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นคือติดขัดในเรื่องของระเบียบทางราชการเพราะพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นหลายๆแห่งมีสถานะที่เป็นของเอกชน และในหลายๆแห่งอยู่ในรูปแบบกึ่งธุรกิจหรืออยู่ในรูปแบบบริษัทเช่นพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย อย่างไรก็ตามปัจจัยสำคัญที่สุดของการจัดทำพิพิธภัณฑ์ไม่ใช่เรื่องเงินจึงได้มีการเสนอให้พิพิธภัณฑ์เกิด “การมีส่วนร่วม” หรือแม้พิพิธภัณฑ์ที่จะสร้างขึ้นมาใหม่ควรเกิดจากการมีส่วนร่วมของชุมชนหรือคนในท้องที่ การทำพิพิธภัณฑ์จึงเป็นลักษณะของกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน (ศรีศักร วัลลิโภดม, 2551:7) ซึ่งจะทำให้พิพิธภัณฑ์นั้นสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน เพราะคนในชุมชนได้มองเห็นความสำคัญจนกลายเป็นอีกแรงหนึ่งที่ช่วยประชาสัมพันธ์และทำให้พิพิธภัณฑ์มีชีวิตชีวา ต้นแบบหรือผู้ผลักดันให้เกิดแนวคิดนี้คืออาจารย์ศรีศักร วัลลิโวดม ได้นำเอาแนวคิดประวัติศาสตร์ท้องถิ่นผสมผสานกับการทำพิพิธภัณฑ์ ทำให้การทำพิพิธภัณฑ์เป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างนักวิชาการกับชาวบ้าน

เมื่อพิจารณาถึง พัฒนาการของการทำพิพิธภัณฑ์ที่ได้เกิดมีแนวคิดต่างๆเข้ามาไม่ว่าจะเป็นการสร้างการมีส่วนร่วม การทำให้พิพิธภัณฑ์มีชีวิต การทำสื่อให้มีความหลากหลาย ทั้งหมดทั้งมวลล้วนแต่อยู่บนพื้นฐานเพื่อให้มีผู้ชมเข้ามา หากกล่าวถึงพิพิธภัณฑ์ความน่าสนใจมักจะอยู่ที่เรื่องของการจัดแสดง หรือกระบวนการจัดตั้ง พิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่ถูกสร้างขึ้นมาอยู่บนความต้องการส่วนบุคคล/ชุมชน แนวคิดการอนุรักษ์ หรือเป็นนโยบายรัฐ ส่วน “ผู้ชม” หรือภาษาทางการตลาดที่เรียก “ลูกค้า” นั้นไม่ได้อยู่ในกระบวนการของการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นจึงไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ชมได้เพราะขาดองค์ความรู้เกี่ยวกับผู้ชม หากแต่พิพิธภัณฑ์ในหลายๆแห่งได้เน้นไปที่คุณค่าของตัวพิพิธภัณฑ์มากกว่าผู้ชมจึงทำให้ทำให้กระบวนการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับผู้ชมนั้นไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร เพราะตัวพิพิธภัณฑ์เองได้กลายเป็นพื้นที่ที่ไม่ใช่พื้นที่ของกลุ่มเป้าหมาย เช่น พิพิธภัณฑ์เมืองส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็นทางการทั้งรูปแบบการจัดแสดงและกระบวนการสื่อความหมาย เหมาะแก่ผู้เขข้าชมที่เป็นกลุ่มผู้ใหญ่มากกว่า ขณะที่เด็กหรือเยาวชนแทบจะไม่มีพื้นที่ในส่วนนี้เลย

Facebook Comments