เทคนิคทำรายงานส่งอาจารย์ แบบฉุกเฉิน

ตั้งแต่เข้าเรียนมหาลัย ชีวิตมีความเป็นอิสระมากขึ้น ความขี้เกียจก็มากขึ้น ในช่วงที่เรียน ป.ตรีประวัติศาสตร์ ตลอดระยะเวลา 3 ปีกว่าๆ มากกว่า 50% แทบจะเป็นรายงานชนิดที่ว่าสุกเอาเผากิน ผมทำรายงานไม่ถึงกับชุ่ยหรอกครับ เพียงแต่ยังไม่ดีพอ หากเทียบกับคนที่เขาใช้เวลาทำนานๆ  และจากประสบการณ์ในชั้นเรียน ป.โท ที่มหิดลก็ทำให้รู้ว่า การเผางานมันเกิดขึ้นได้กับคนทุกระดับชั้น  การศึกษาสูงความรับผิดชอบสูงขึ้นก็จริง แต่ความขี้เกียจมันไม่ได้แปรผกผันไปตามความรู้ที่มี  ทุกคนมีมันอยู่ในตัว

ด้วยความที่วิชาประวัติศาสตร์ ไม่ใช่วิชาที่ท่องจำ เขียนรายงานตามหนังสือ แต่ว่าเป็นวิชาที่นักศึกษาต้องคิดประเด็นขึ้นเอง หรือเขียนประวัติศาสตร์โดยไม่ให้ซ้ำ กับนักเขียนคนอื่นๆ แต่พอเรียนโทยิ่งหนักเข้าไปอีก ผมเรียนสาขาวัฒนธรรมและการพัฒนา  “วัฒนธรรม” นี้ไม่ได้หมายถึง ประเพณี การไหว้ การฟ้อนรำ เรื่องไทยๆ อะไรแบบนั้นหรอกนะ  …แต่ “วัฒนธรรม” ที่ผมเรียน คือสิ่งที่อยู่รอบๆตัว เป็นเรื่องของความคิดซะมากกว่า

วกกลับมาที่การทำรายงาน จากการที่เผางานส่งอาจารย์บ่อยๆ ประกอบกับการเขียนบล็อก  ก็ได้พบเทคนิคการเขียนงานเร็ว ให้มีประสิทธิภาพ คือการกำหนดโครงสร้างของงานเอาไว้ล่วงหน้า ตั้งแต่การตั้งคำถาม ไขปริศนา สรุปงาน และเสนอแนะ

การเขียนรายงาน ถ้าไม่กำหนดโครงสร้าง จะทำงานได้ช้ามาก เพราะมันจะไปได้หลายทาง บางคนกลัวรายงานจะไม่หน้า หานั่นนี่มาใส่  จนรายงานไม่น่าอ่าน กลัวอาจารย์จะว่า รายงานบางแล้วมันดูไม่มีคุณภาพ ต้องหนาๆ เขาถึงชมว่าเทพ …สำหรับผมนะ หน้าบางไม่สำคัญเท่าประเด็น  แต่ก็ไม่ควรจะน้อยเกินไป

 

ขั้นตอนการทำรายงาน

  • สนใจเรื่องอะไร
  • เรื่องนี้มีปัญหาอะไร
  • ได้ปัญหามาแล้วก็ตั้งคำถามเพื่อหาคำตอบ
  • คำตอบหรือแนวทางที่ได้  จะช่วยแก้ปัญหานั้น

โครงสร้างรายงานที่แนะนำมีดังนี้

  • คำนำ
  • บทนำ
  • เนื้อหา
  • บทสรุป
  • ข้อเสนอแนะ

สำหรับผม การทำรายงานไม่ใช่การลอกหนังสือนะ แต่มันเป็นการเขียนข้อเท็จจริง ประกอบกับความคิดเห็นใหม่ๆ ของเราลงไป

คำนำ >> ให้เขียนว่าทำรายงานขึ้นมาเพื่ออะไร เป็นส่วนหนึ่งวิชา ค้นคว้าเรื่อง เพื่อหาแนวทางเสนอแนะอะไรก็ว่าไป เขียนเอาพอประมาณ

บทนำ  >> บทนำคือการเปิดประเด็น ให้เขียนคำถาม ข้อสงสัยเกี่ยวกับประเด็นที่ทำ  หรือเป็นโจทย์ ประเด็นหลักๆของเรื่อง ว่าจะเรื่องนี้ทำไม

เนื้อหา >> หลังจากเปิดประเด็นแล้ว ก็คือการหาคำตอบ ให้เอาข้อเท็จจริงที่ได้มาแสดง ว่ามีอะไรบ้าง แล้วข้อเท็จจริงมันจะหาคำตอบได้อย่างไร

บทสรุป >> สรุปประเด็นที่ได้ว่ามีอะไรบ้าง

ข้อเสนอแนะ >> จากประเด็นที่ได้ เรามีข้อคิดเห็นอย่างไร

 

สิ่งสำคัญ ถ้าเราค้นพบปลายทางของเรื่องก่อน เราจะเขียนได้เร็วติดจรวด

ผมจะยกตัวอย่างเรื่องแล้วกัน …สมมุติว่าจะทำเรื่อง “คลิป”

  1. ขั้นตอนแรก ได้เรื่องแล้วว่าสนใจ คลิป  ขั้นตอนต่อมาคือการกำหนดประเด็นให้เรื่องมันเล็กลง
  2. เช่น พบปัญหาว่ามีคนเอาคลิปหลุดมาเผยแพร่ ซึ่งผู้เสียหายคือคนในคลิป  พบว่าผลเสีย คือ ความอับอายของคนในคลิป  ถ้าคิดไปถึงระดับชาติคือเยาวชนจะเลียนแบบ
  3. จากนั้นก็ได้โจทย์ ว่า “คลิปหลุดสร้างความเสียหายให้กับคนในคลิป”
  4. คำถามคือ “ทำอย่างไร ไม่ให้คลิปหลุด”
  5. หลังจากได้คำถามแล้วก็แสวงหาวิธีป้องกัน  โดยหาต้นตอของการเผยแพร่คลิป
  6. พบว่าต้นตอของการเผยแพร่ คือ การถ่ายคลิป การยอมให้ถ่ายคลิปที่ไม่เต็มใจ และเอาเผยแพร่บนเน็ต
  7. นำต้นตอที่ได้มาอธิบาย  ว่าเรื่องมันเป็นอย่างไร เช่นเอามือถือไปซ่อม พนักงานของร้านก็เอาคลิปไปโพส
  8. หลังจากอธิบายเป็นข้อๆ แล้วก็หาแนวทาง ว่าจะป้องกันอย่างไร
  9. กลับมาดูที่ต้นตอ สมมุติว่า ผมเสนอว่า ไม่ถ่ายดีที่สุด หรือผ่อนผัน พยายามอย่าถ่ายให้เห็นหน้า

สรุปขั้นตอนทำรายงาน  คลิป >>คลิปหลุดเป็นปัญหาทำให้อาย >> ทำอย่างไรไม่ให้คลิปหลุด >> ค้นหาสาเหตุของการเผยแพร่ >> สรุปสาเหตุคือ…. >> เสนอแนวทางว่าควรป้องกัน ด้วยวิธีนี้

 

หลังจากที่ได้ประเด็น คำถาม ข้อสรุป ข้อเสนอแนะ เสร็จแล้ว ก็เอามาเติมใส่ตามข้อต่างๆด้านล่าง

  • คำนำ
  • บทนำ
  • เนื้อหา
  • บทสรุป
  • ข้อเสนอแนะ

สมมุติว่าเขียนได้สองหน้าก็เขียนไป เขียนไปก่อน คิดอะไรออกก็เขียนไป  หลายคนติดเรื่องภาษากลัวไม่เป็นวิชาการ ตรงนี้หล่ะสำคัญ มันจะเพิ่มเวลาการเขียน  จะเขียนเป็นภาษาพูดก็เขียนไปเลย เขียนเสร็จทั้งโครงสร้าง แล้วค่อยมาแก้ก็ได้ เพราะถึงตอนนั้น เราจะรู้สึกสบายใจ  ว่าได้ค้นพบปลายทางของรายงานนั้นแล้ว

 

 

Facebook Comments