พฤติกรรมการเข้าชม ของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย พิพิธภัณฑ์มิวเซียมสยาม ตอนที่ 2

DSCF7791

หากกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างสังคมไทยกับพิพิธภัณฑ์แล้ว ถือว่าเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยจะสู้ดีนักเมื่อพื้นที่ภายในพิพิธภัณฑ์นั้นมีความจำกัด ไม่ได้เป็นพื้นที่ที่รองรับการเรียนรู้ที่มีความหลากหลาย แต่ก็ยังมีพิพิธภัณฑ์ที่สัมพันธ์กับกลุ่มคนอยู่ เช่น พิพิธภัณฑ์เด็กกรุงเทพฯ มีกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็ก พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นเด็กนักเรียน มิวเซียมสยามกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นเยาวชนและคนรุ่นใหม่ ฯลฯ พิพิธภัณฑ์ที่มีกลุ่มเป้าหมายชัดเจนส่วนใหญ่ส่วนใหญ่ดำเนินงานในเชิงธุรกิจและอยู่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ซึ่งนับว่าเป็นส่นน้อยหากเทียบกับพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นทั่วประเทศที่มีมากถึงพันแห่ง พิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่ตั้งกลุ่มเป้าหมายเป็นคนในพื้นที่หรือประเภท “ประชาชนทั่วไป” ทำให้กระบวนการสื่อสารที่มาจากตัวนิทรรศการเองไม่ได้มีความเหมาะสมกับกลุ่มคนที่หลากหลาย เพราะมีลักษณะค่อนข้างเป็นกลาง บุคลิกของพิพิธภัณฑ์จึงมีลักษณะเป็นผู้ใหญ่มากกว่าหาแรงจูงใจคนกลุ่มอื่นๆไม่ได้

วัยรุ่นเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มักจะหาพื้นที่ไม่ได้ในพิพิธภัณฑ์ มีพิพิธภัณฑ์เพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่สร้างบรรยากาศของการเรียนรู้ได้เหมาะสำหรับพวกเขา ทั้งๆที่เป็นกลุ่มคนที่สำคัญพอๆกับกลุ่มเด็กซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศและพัฒนาพิพิธภัณฑ์ในอนาคต พวกเขามีส่วนสำคัญที่จะสร้างวัฒนธรรมใหม่นั่นก็คือการเรียนรู้ในพิพิธภัณฑ์เพราะในปัจจุบันการเข้าชมพิพิธภัณฑ์เพื่อการเรียนรู้ยังไม่ใช่วัฒนธรรมของคนไทยอย่างแท้จริง กลุ่มวัยรุ่นต่างจากกลุ่มเด็กตรงที่พวกเขามีอิสระมากกว่าซึ่งพิพิธภัณฑ์สามารถใช้โอกาสตรงนี้ดึงพวกเขาไปเป็นผู้ชมได้ หากมองถึงพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยแล้วมีเพียงไม่กี่แห่งที่เปิดพื้นที่ให้กับกลุ่มวัยรุ่น เช่น หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ ที่ตั้งอยู่ในย่านศูนย์กลางของวัยรุ่นซึ่งอยู่ไกล้กับมาบุญครองและสยามพาราก้อน เป็นย่านหนึ่งที่วัยรุ่นมาเที่ยวมากที่สุด โดยลักษณะของการจัดแสดงศิลปะที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพนั้นให้อิสระแก่ผู้ชมมากกว่าหอศิลป์ทั่วไป และมิวซียมสยามเป็นพิพิธภัณฑ์อีกแห่งหนึ่งที่มีกลุ้มวัยรุ่นเข้าชมมากที่สุด เพราะเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีความทันสมัยเต็มไปด้วยสีสันและความแปลกใหม่ดึงดูดวัยรุ่นมาดูพิพิธภัณฑ์ได้จำนวนไม่น้อย แม้ว่ามิวเซียมสยามจะเป็นพิพิธภัณฑ์ที่บอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์แต่การนำสื่อมัลติมีเดียมาใช้พร้อมทั้งปรับแต่งสื่อการจัดแสดงให้ดูแปลกตาสวยงาม มิวเซียมสยามจึงเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของวัยรุ่นได้ดี ซึ่งพิพิธภัณฑ์ประเภทนี้ยังถือว่าเป็นส่วนน้อยหากเทียบกับพิพิธภัณฑ์ที่มีมากถึงพันกว่าแห่งจากทั่วประเทศ กลุ่มวัยรุ่นจึงเป็นกลุ่มที่มีพื้นที่ที่น้อยที่สุดในพิพิธภัณฑ์โดยเฉพาะในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ทั้งรูปแบบการจัดแสดง กิจกรรม และงานบริการนั้นไม่ได้มีความสัมพันธ์กับกลุ่มวัยรุ่นเท่าที่ควร พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นหลายๆแห่งยังไม่สามารถตอบสนองด้านความต้องการ การเรียนรู้ และความเป็นสมัยใหม่ของผู้ชมกลุ่มวัยรุ่นเอง ทั้งๆที่วัยรุ่นเป็นกลุ่มที่มีโอกาสเข้าพิพิธภัณฑ์มากที่สุดกลุ่มหนึ่งพอๆกันกลับกลุ่มเด็กที่ได้มีโอกาสมาเที่ยวพิพิธถัณฑ์กับทางโรงเรียน

อย่างไรก็ตาม พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นยังมีอุปสรรคที่สำคัญคือพื้นฐานความรู้ที่มีต่อกลุ่มวัยรุ่นหรือแม้แต่กลุ่มเด็กหรือกลุ่มผู้ใหญ่ แทบจะไม่สามารถหางานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับผู้ชมได้เลย อีกทั้งยังมีความล้าสมัยอาจจะไม่เหมาะกับสภาพสังคมในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่คนทำพิพิธภัณฑ์ควรจะรู้เกี่ยวกับกลุ่มคนกลุ่มเป้าหมายนั้นไม่อาจใช้จินตนาการได้อย่างเดียว แต่พื้นฐานความรู้นั้นควรจะผ่านกระบวนการที่สามารถทำให้ทราบถึงความต้องการของกลุ่มเป้าหมายจริงๆ จึงจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับงานพิพิธภัณฑ์เพื่อให้เกิดประโยชน์กับกลุ่มเป้าหมายได้ ความสำคัญของผู้ชมไม่ใช่แค่เข้ามาแล้วออกไปหากแต่เป็นรากฐานสำคัญที่จะช่วยพัฒนาพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑ์กับคนดูไม่สามารถแยกออกจากกันได้เพราะหากไม่เป็นเช่นแล้วประโยชน์ของการสร้างพิพิธภัณฑ์จะเป็นเพียงการตอบสนองความต้องการของผู้สร้างเท่านั้นไม่ใช่ความต้องการของสังคมอย่างที่พิพิธภัณฑ์ควรจะเป็น

จากเหตุผลดังกล่าวจึงเป็นที่มาของการศึกษา “การดำเนินงานพิพิธภัณฑ์ในทัศนะของวัยรุ่นหรือกลุ่มนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย” เพื่อทำความเข้าใจในความคิดทัศนคติและพฤติกรรมของกลุ่มวัยรุ่นอันนำไปสู่แนวทางการวางแผนงานของพิพิธภัณฑ์ ให้มีความเหมาะสมและตอบสนองกลุ่มเป้าหมายได้ตรงจุดมากที่สุด โดยเป็นการคิดในพื้นฐานที่ว่าพิพิธภัณฑ์จะอยู่รอดได้เมื่อมีผู้ชมและจะตอบสนองความต้องการของผู้ชมได้เมื่อเข้าใจผู้ชม ซึ่งตัวอย่างที่ชัดเจนของพิพิธภัณฑ์ที่มีกลุ่มวัยรุ่นเข้าชมมากที่สุดแห่งหนึ่งคือ “มิวเซียมสยาม” เป็นพิพิธภัณฑ์บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยตั้งแต่ยุคการสร้างสุวรรณภูมิจนมาถึงเรื่องราวของคนไทยในปัจจุบัน มิวเซียมสยามเป็นพิพิธภัณฑ์อีกแห่งหนึ่งที่ได้พยายามตอบโจทย์พฤติกรรมและทัศนคติของคนรุ่นใหม่ที่มีต่อพิพิธภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสื่อนิทรรศการที่เต็มไปด้วยสีสันและสื่อที่โต้ตอบกับผู้ชม อีกทั้งเนื้อหาทางประวัติศาสตร์นั้นแม้ไม่ใช่เรื่องใหม่ในแวดวงนักประวัติศาสตร์ แต่เป็นเรื่องใหม่สำหรับคนไทยและคนรุ่นใหม่ ซึ่งเรื่องราวที่ใช้จัดแสดงบวกกับสื่อที่ใช้จัดแสดงที่มีความสมัยใหม่นั้นได้ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ซึ่งก็คือกลุ่มวัยรุ่นหรือกลุ่มเยาวชนอันเป็นเป้าหมายหลักของพิพิธภัณฑ์มิวเซียมสยาม

มิวเซียมสยามเป็นพิพิธภัณฑ์ที่อยู่ภายใต้องค์การสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้(OKMD) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นองค์กรนำทางด้านความรู้ ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีนิสัยรักการอ่านและการเรียนรู้ ส่งเสริมให้มีการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพชีวิตที่สอดคล้องกับสมัยใหม่และอนาคต ฯลฯ และพิพิธภัณฑ์มิวเซียมสยามนั้นได้เปิดตัวขึ้นมาภายใต้แนวคิด Discovery Museum เป็นการสร้างพื้นที่ใหม่แห่งการเรียนรู้ภายใต้พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ โดยสร้างสรรค์นิทรรศการถาวรที่กระตุกต่อมความคิดและจุดประกายความอยากรู้ เกิดการตั้งคำถาม และเน้นปฏิสัมพันธ์ระหว่างนิทรรศการกับผู้ชม เพื่อให้เกิดการสื่อสารความรู้และทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเองของผู้ชม ด้วยเทคนิคการจัดแสดงที่หลากหลาย (สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ, 2548:2) ซึ่งในปัจจุบันมิวเซียมสยามนั้นเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีวัยรุ่นเข้าชมมากที่สุดแห่งหนึ่ง เพราะเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีเทคนิคการจัดแสดงที่หลากหลายและมีความสวยงาม ลักษณะดังกล่าวตอบโจทย์ความต้องการของวัยรุ่นในแง่ของความรื่นรมณ์ซึ่งไม่ใช่เป้าหมายที่แท้จริงหรือเป้าหมายทั้งหมดของทางพิพิธภัณฑ์ (คเณศ อธิรัตนกรัณฑ์, 2552) การเข้าชมมิวเซียมยามของกลุ่มวัยรุ่นจึงดูเหมือนเป็นแฟชั่นมากกว่าหรือการตอบสนองด้านอารมณ์มากกว่าจะเป็น Discovery Museum ที่สามารถกระตุกต่อมคิดจุดประกายความอยากรู้จนนำไปสู่การต่อยอดองค์ความรู้ต่างๆ การศึกษาพฤติกรรม ทัศนะคติและความคาดหวังของกลุ่มวัยรุ่นที่มีต่อพิพิธภัณฑ์ครั้งนี้หวังว่าจะทำให้ทราบถึงความต้องการของวัยรุ่นที่แท้จริงและสามารถนำมาผสมผสานกับความต้องการของพิพิธภัณฑ์ ให้เป็นแนวทางเดียวกันจนนำมาสู่แนวทางการดำเนินงานที่ตอบสนองความต้องการของวัยรุ่น

Facebook Comments